สารจากประธานกรรมการ

ดร.ชุมพล พรประภา
ประธานกรรมการ

เรียนท่านผู้ถือหุ้น

เศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีการขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตการณ์โรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี โดยสถานการณ์ทั้งโลกเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทุกประเทศเริ่มปรับใช้ชีวิตร่วมกับ COVID–19 และมีการเปิดประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมากระเตื้องขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากซบเซาไปในช่วงปิดประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และได้รัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคม 2566 โดยรัฐบาลใหม่มีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนได้อนุมัติให้วีซ่าฟรีกับประชาชนของสองประเทศ จะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567

เศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีอัตราการขยายตัว 1.9% ปรับลดลงหลังจากที่ขยายตัวในปี 2565 ที่ 2.5% การส่งออกของไทย หดตัว 1.5% หลังจากที่ขยายตัวในปี 2565 ที่ 5.5% อีกทั้งนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มกลับมาเที่ยวประเทศไทยถึง 28 ล้านคน หลังจากที่เคยทำสถิติสูงสุด 39 ล้านคนในปี 2562 ส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กระเตื้องขึ้น ประกอบกับในปี 2566 มีการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) และประเทศจีน มีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกือบทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกในปี 2565 และปี 2566 สูงถึง 8.7% และ 6.9% สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ต่อเนื่อง 2 ปี ติดต่อกัน (ข้อมูลจาก International Monetary Fund (IMF)) ประกอบกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทวีความรุนแรง ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึง ณ สิ้นปี 2566 เป็นเวลา 676 วัน และไม่มีท่าทีที่จะสงบลงโดยเร็ว ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตสินค้าที่สำคัญรายใหญ่ของโลก เช่น พลังงาน (น้ำมัน และ แก๊ส) อะลูมิเนียม ปุ๋ย และอาหาร ทำให้ทั่วโลกเกิดปัญหาด้านการผลิต และการขนส่ง ประกอบกับการเกิดสงครามอิสราเอล – ปาเลสไตน์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 จนถึง ณ สิ้นปี 2566 เป็นเวลา 86 วัน ยังไม่มีสัญญาณที่จะสงบลง สำหรับราคาน้ำมันดิบโลก BRENT มีราคาเฉลี่ยทั้งปี USD 82.14 ต่อ Barrel ลดลง 18.38% จากปี 2565 และ WTI มีราคาเฉลี่ยทั้งปี USD 77.77 ต่อ Barrel ลดลง 17.01% จากปี 2565 ราคาแก๊สในยุโรป (Dutch TTF Natural Gas) พุ่งสูงสุดถึง USD 84.15 ต่อ MMBTU ในเดือนสิงหาคม 2565 หรือ เพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 และปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ USD 10.49 ต่อ MMBTU ณ สิ้นปี 2566 เป็นผลให้ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จากดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ 0.00 – 0.25% ได้ขึ้นมาอยู่ที่ 5.25 - 5.50% ณ สิ้นปี 2566 เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 11 ติดต่อกันและถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่สิงหาคม 2550 สูงสุดในรอบ 22 ปี และธนาคารกลางของสหภาพยุโรป EU ปรับขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิง 10 ครั้งติดต่อกัน จากเคยต่ำสุดที่ -0.50% ขึ้นมาอยู่ที่ 4.00-4.50% สูงที่สุดในรอบ 24 ปี และ อีกหลายประเทศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินของแต่ละประเทศเพื่อไม่ให้อ่อนค่าจนเกินไป สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 8 ครั้ง จากที่ 0.5% ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2566 ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.50%

ประเทศไทยก็เผชิญกับวิกฤตการณ์ พลังงานราคาสูง ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูง รัฐบาลไทยได้ขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยการตรึงราคาพลังงาน ทั้งน้ำมัน แก๊ส และไฟฟ้า จนทำให้ในปี 2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดทุนถึง 78,557 ล้านบาท ประกอบกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ให้ทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – เดือนเมษายน 2566 ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. เป็นจำนวนเงินรวม 111,869 ล้านบาท ซึ่งในปี 2567 คาดว่าการสนับสนุนราคาพลังงานยังคงดำเนินต่อไป ส่วนภาคการเกษตรของไทยในปี 2566 สามารถขยายตัวได้ 0.3% เทียบกับปี 2565 ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นเล็กน้อยและในปีที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยว เริ่มกลับมาฟื้นตัวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 28 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย จำนวน 249.1 ล้านคน-ครั้ง รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย ในปี 2566 สูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปี 2565 หรือคิดเป็นประมาณ 74% ของรายได้ที่เคยทำสถิติสูงสุดในปี 2562 ก่อนการระบาด COVID-19

ในปี 2566 ตลาดรถจักรยานยนต์มียอดจำหน่าย 1,878,655 คัน เพิ่มขึ้น 4.26% และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ส่วนตลาดรถยนต์มียอดจำหน่าย 775,780 คัน ลดลง 8.7% หดตัวหลังจากขยายตัวมาต่อเนื่อง 2 ปี บริษัทยังคงนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เป็นการปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับปัญหาการระบาดของ COVID-19 และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2565 และพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบสีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2567 หรือแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending) และมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบยั่งยืน ซึ่งจะเริ่มใช้มาตรการต้นปี 2567 เช่นเดียวกัน เป็นผลให้ลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้ให้กู้ยืมสุทธิของกลุ่มบริษัทฐิติกรอยู่ที่ 3,658.8 ล้านบาท ลดลง 12.0% ในขณะที่ลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศอยู่ที่ 2,081.4 ล้านบาท ลดลง 23.2% ลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์อยู่ที่ 206.3 ล้านบาท ลดลง 10% ในขณะที่ลูกหนี้เช่าซื้อในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชาอยู่ที่ 1,255.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% คิดเป็นสัดส่วน 34.3% ของลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้ให้กู้ยืมสุทธิของกลุ่มบริษัท โดย ณ สิ้นปี 2566 กลุ่มบริษัทมีเงินสดหรือเทียบเท่ากว่า 1,314.5 ล้านบาท หรือ 20.5% ของสินทรัพย์รวม อีกทั้งมีหนี้สินต่อทุนที่ 0.15 เท่า กลุ่มบริษัทมีความพร้อมด้านสภาพคล่อง ซึ่งในระยะสั้นและระยะกลางบริษัทสามารถเผชิญกับดอกเบี้ยขาขึ้นได้อย่างไม่มีปัญหา

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ขอบคุณลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ นักลงทุน สถาบันการเงิน สำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ และท่านผู้ถือหุ้นที่ได้ให้ความไว้วางใจ และให้การสนับสนุนด้วยดีเสมอมา ความสำเร็จขององค์กรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกิดจากความมุ่งมั่น และประสบการณ์ของบุคลากร ตลอดจนผู้บริหาร พนักงานของบริษัท ทำให้บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการชั้นนำมากว่า 50 ปี ในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย บริษัทยังคงเดินหน้าขยายงานเพื่อเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ข้าพเจ้ามีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า กลุ่มบริษัทฐิติกร ซึ่งมีฐานะการเงินที่มั่นคง จะสามารถผ่านวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าขออวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง